Last updated: 14 เม.ย 2563 | 60700 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะกระดูกเชิงกรานคว่ำไปข้างหน้า (Anterior pelvic tilt) คือลักษณะการเสียสมดุลของร่างกายส่วนล่าง โดยจะเกิดการแอ่นตัวมากเกินไปของหลังช่วงล่าง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hyperlordosis ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางร่างกาย ที่บ้านเราจะเรียกว่า ก้นงอน หรือ ก้นเป็ด ซึ่งจะมีลักษณะท้องยื่น พุงป่อง (ทั้งๆที่ไม่ได้อ้วน) ตามมา
กระดูกสันหลังส่วนล่างจะอยู่ในสภาพสมดุลเป็นปกติขึ้นอยู่กับองศาของระดับตำแหน่งของกระดูกเชิงกรานและระดับองศาของการแอ่นตัวของกระดูกสันหลังช่วงกระเบนเหน็บ ถ้ากระดูกเชิงกรานหมุนตัวคว่ำไปข้างหน้ามากเกินไป ก็จะเกิดการชดเชยของกระดูกหลังส่วนล่างทำให้มันต้องแอ่นตัวมากตามกันไป ผู้ที่มีภาวะเสียสมดุลช่วงล่างเช่นนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lower Crossed Syndrome คือการที่กล้ามเนื้อบริเวณท้องและสะโพกที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกันมีความแข็งแรงไม่เสมอกัน เกิดการดึงรั้ง บาดเจ็บ และเกิดอาการปวดตามมา
แล้วอะไรทำให้กระดูกเชิงกรานเราคว่ำ สาเหตุที่สำคัญทำให้เกิดภาวะกระดูกเชิงกรานคว่ำไปข้างหน้า คือ กลุ่มกล้ามเนื้อ hip flexors แปลให้ง่ายคือ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่พับ หรือ งอสะโพกขึ้นมาทางด้านหน้า เช่นการแทงเข่า เป็นต้น กล้ามเนื้อกลุ่มนี้หลักๆว่ามีอะไรบ้าง?
1. Psoas Major
2. Iliacus Muscle
3. Rectus Femoris
4. Sartorius
5. Tensor Fasciae Latae (TFL)
กล้ามเนื้อทั้งหมดด้านบนนี้มีจุดเกาะต้น และ จุดเกาะปลายข้ามผ่านข้อต่อสะโพกทุกมัด
การที่เรามีกล้ามเนื้อ Hip Flexors ที่มีการหดตัวสั้นมากเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันเช่น การนั่งทำงานนานๆ, การนั่งขับรถนานๆ, การเดิน, การวิ่ง, การใส่ส้นสูง หรือแม้กระทั่งการนอนในท่าคุดคู้ทั้งคืน ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้เกิดการหดตัวมากขึ้นโดยที่เราไม่ตั้งใจ เมื่อนานวันเข้ากล้ามเนื้ออันทรงพลังเหล่านี้ก็ไปดึงกระดูกเชิงกรานให้หมุนตัวไปข้างหน้า กระดูกหลังส่วนล่างก็จะค่อยๆแอ่นตัวตามการดึงนี้ไปเรื่อยๆจนทำให้ก้นงอนขึ้นมา
ลักษณะการแอ่นมากเกินไปของข้อกระดูกหลังส่วนล่างนี้อาจจะลามทำให้เกิดอาการปวดหลังปวดเอวตามมา รวมถึงถ้าเป็นหนักเข้าก็จะทำให้โพรงช่องผ่านของเส้นประสาทที่ข้างข้อกระดูกสันหลังส่วนล่างเกิดการแคบลงทำให้ไประคายหรือการกดทับเส้นประสาทได้ หรือทำให้เกิดภาวะกระดูกงอก bone spurs ได้ด้วยเช่นกัน
วิธีการรักษาของเราหลักๆคือทำการคลายยืดกล้ามเนื้อแกนกลางด้านข้างช่องท้องคือกลุ่ม illiopsoas ด้วยการนวด กด ยืด การประคบร้อน และการปรับสมดุลข้อกระดูก และการแนะนำผู้ป่วย โดยเพาะท่านั่งที่ถูกต้อง คือไม่ควรนั่งแช่นาน ควรจะนั่งไม่เกิน 30 นาทีแล้วลุกยืนเดิน 3 นาทีแล้วกลับมานั่ง และไม่ควรนั่งน้อมตัวไปข้างหน้า
21 ม.ค. 2564